หน้าที่ของผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG
ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver (CG) คือบุคคลที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงและต้องการความช่วยเหลือ หรือเด็กเล็ก โดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ได้ผ่านการฝึกอบรมโดยโรงเรียนที่ได้รับการรับรองโดยกรมอนามัย (Department of Health) ซึ่งหลักสูตรการเรียนจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 70 ชั่วโมง โดยโรงเรียนหรือสถาบันฝึกสอนผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG หลายแห่ง มักจะมีหลักสูตรที่สามารถเรียนภาคทฤษฎี ควบคู่กับการปฎิบัติจริง และอาจใช้เวลาการศึกษาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน และเมื่อผู้ดูแลได้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้ดูแลก็จะได้รับเกียรติบัตรโดยสถาบันการศึกษาเพื่อยืนยันว่าตนได้ผ่านการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุนั่นเอง
หน้าที่หลักของผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG
ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกอบรมจะสามารถให้บริการได้ตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing home) หรือบ้านของผู้สูงอายุ โดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG จะมีขอบเขตและบทบาทหน้าที่ดังนี้
ดูแลกิจวัตรประจำวัน: ช่วยเหลือในเรื่องการรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การเคลื่อนย้าย และการขับถ่าย ให้ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยเหมาะสมกับวัยของผู้สูงอายุ
สังเกตและรายงานการเปลี่ยนแปลง: เฝ้าระวังพฤติกรรมและสุขภาพของผู้สูงอายุ พร้อมรายงานการเปลี่ยนแปลงให้ญาติทราบอย่างสม่ำเสมอ
ส่งเสริมสุขภาพ: จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเบาๆ หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย และดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
จัดการเรื่องอาหาร: เตรียมและเสิร์ฟอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร
ดูแลสุขอนามัย: ช่วยเหลือในการอาบน้ำ แต่งตัว และดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้สูงอายุ
จัดการเหตุฉุกเฉิน: รู้วิธีการส่งต่อผู้สูงอายุในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือการเจ็บป่วยตามระบบและขั้นตอนที่ถูกต้อง
จัดทำรายงาน: บันทึกและจัดทำรายงานผลการดูแลผู้สูงอายุรายเดือน เพื่อรายงานต่อผู้จัดการระบบหรือญาติผู้เกี่ยวข้อง
การดูแลผู้สูงอายุตามบ้านโดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG
สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องการการดูแลตามบ้าน แต่ไม่ต้องการการดูแลด้านการแพทย์หรือการปฐมพยาบาล ก็สามารถใช้บริการดูแลโดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ได้ โดยความสามารถของผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ที่ช่วยเฝ้าไข้ตามบ้านจะมีดังนี้
ดูแล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
ดูแลสุขอนามัย ทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
ป้อนยา จัดการยาที่ได้รับมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (หากเป็นยาพื้นฐานที่ไม่ใช่การใช้เข็มฉีด)
จัดเตรียมอาหาร และป้อนอาหาร
บำบัดฟื้นฟูร่างกายเบื้องต้น เช่นการเคลื่อนไหว การพลิกตัว บริหารร่างกาย
กิจกรรมดูแลที่ไม่สามารถทำโดยผู้ดูแลสูงอายุ CG ได้
กิจกรรมการดูแลโดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะมีความคล้ายกับกิจกรรมการดูแลของผู้ช่วยเหลือผู้ดูแล NA อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดูแลบางอย่างจะไม่สามารถกระทำได้โดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมมา ดังนั้นการกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลที่อาจจะดูไม่ยุ่งยากก็อาจมีความเสี่ยง และผิดกฎหมายอีกด้วย โดยกิจกรรมที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG ไม่สามารถกระทำได้จะมีดังเช่น
งานดูแลที่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่ต้องสอดใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ เช่น การเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ การใส่สายให้อาหาร ใส่สายสวนปัสสาวะ
การทำแผลหรือหัตถการที่อาศัยเทคนิคปลอดเชื้อ หรือหัตถการที่อาจติดเชื้อได้
การบริหารยาหรือการสั่งยาให้ผู้ป่วยด้วยตนเอง
การทำหัตถการ การปฐมพยาบาล แม้จะได้รับการถ่ายทอดการฝึกอบรมมาจากพยาบาลก็ตาม
สรุป
ผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือ Care Giver (CG) เป็นผู้ดูแลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุที่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แม้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG จะมีบทบาทคล้ายคลึงกับผู้ช่วยผู้ดูแล (NA) แต่ก็มีขอบเขตการทำงานที่แคบกว่า โดยหน้าที่หลักของ CG จะครอบคลุมการดูแลกิจวัตประจำวันของผู้สูงอายุ การรักษาความสะอาด การจัดเตรียมอาหาร และการอำนวยความสะดากให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ CG มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องการการดูแล
หากคุณกำลังมองหาบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ไว้ใจได้ และตรงตามความต้องการของครอบครัว พาไป แพลตฟอร์ม พร้อมช่วยคุณ เราคัดสรรผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมและมีประสบการณ์ พร้อมให้บริการดูแลผู้สูงอายุทั้งที่บ้านและสถานพยาบาล ด้วยระบบจับคู่ที่ทันสมัย คุณสามารถหาผู้ดูแลที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เรียนรู้รายละเอียดของการบริการเพิ่มได้ที่ลิงค์ บริการของเรา