วิธีลดความเครียดสำหรับผู้ป่วยสโตรก

taking care of elderly

เขียนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567

การเกิดความเครียดเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ เมื่อเราเกิดความเครียด ร่างกายของเราจะหลั่งสารกระตุ้นที่ทำให้สมองและร่างกายตื่นตัว เข้าสู่สภาวะสู้หรือหนี (fight or flee) ความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอดมาได้ตั้งแต่ในสมัยอดีตที่มนุษย์ยังต้องออกล่าสัตว์ เราจึงมีความชอบที่จะเผชิญกับความเครียดแบบระยะสั้น เช่นการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุกเพื่อกระตุ้นระดับความเครียดแบบชั่วคราว หรือการแข่งขันกีฬาที่สร้างความตื่นเต้นและตึงเครียด แต่หากความเครียดที่เกิดขึ้นมีระยะเวลาที่ยาวนาน เช่นความเครียดจากการทำงานที่อาจยาวนานเป็นเดือนๆ การกระตุ้นสมองและร่างกายให้ตื่นตัวตลอดเวลาแบบต่อเนื่องจะส่งผลเสียและเกิดอันตรายต่อสุขภาพของเราได้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยิ่งสำหรับผู้ป่วยสโตรก ความเครียดระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดโรควิตกกังวล (anxiety) และโรคซึมเศร้า (depression) ได้ โดยสองในสามของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากอาการหลอดเลือดในสมองแตกมักจะมีความพิการทางร่างกายเกิดขึ้น แม้ความป่วยจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกจะหายไป แต่ความเครียดและความกังวลว่าจะเกิดอาการสโตรกซ้ำก็อาจเกิดขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต กิจกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากผลกระทบจากสโตรกก็อาจก่อให้เกิดความเครียดสะสมได้ง่าย การจัดการกับความเครียดสำหรับผู้ป่วยสโตรกด้วยการฝึกทำสมาธิและฝึกเทคนิคการผ่อนคลายร่างกายจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

การฝึกสมาธิคือการฝึกจิตให้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น การสัมผัสและรับรู้ถึงสิ่งรอบข้าง การฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบันและไม่คิดถึงสิ่งอื่นสิ่งใด วิธีนี้จะช่วยผ่อนคลายร่างกายและความตื่นตัวได้ ส่วนเทคนิคการผ่อนคลายร่างกายคือการทำกิจกรรมที่จะช่วยผ่อนคลายร่างกายได้ โดยเราสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสโตรกฝึกสมาธิและปฏิบัติกิจกรรมผ่อนคลายทางร่างกายควบคู่ไปด้วยกันได้

กิจกรรมที่ช่วยในการผ่อนคลายอาทิ เช่น การทำโยคะ การฝึกการหายใจ การนั่งสมาธิ จะช่วยลดความวิตกกังวล และช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ จากผลวิจัยจากศูนย์วิจัยในสหราชอาณาจักรที่ศึกษาการฝึกสมาธิและการผ่อนคลายด้วยวิธีต่างๆ อย่างเช่น การจดจ่อกับการหายใจ การผ่อนคลายร่างกาย การนับเลข การฝึกเปล่งคำซ้ำๆ การนึกถึงสถานที่ที่สวยงาม และการฝึกขยับร่างกายและกล้ามเนื้อ ได้ข้อสรุปว่าการจินตนาการถึงสถานที่ที่สวยงาม และการจดจ่ออยู่กับการหายใจเข้า-ออก เป็นสองกิจกรรมที่ได้ผลในการช่วยทำให้เกิดการผ่อนคลายทั้งทางกายและจิตใจมากที่สุด ส่วนการนับเลข หรือการเปล่งเสียงซ้ำ และการขยับทางร่างกายได้ผลที่น้อยกว่าเมื่อฝึกฝนกับผู้ป่วยบางท่าน เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวอาจมีความยากในการฝึกฝน

ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับกิจกรรมให้เข้ากับสภาพทางร่างกายของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน ผู้ป่วยบางท่านอาจมีปัญหาในการอ่านหรือการฟัง ผู้ช่วยเหลือจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝนให้เข้ากับสถานการณ์ของผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่ากิจกรรมที่ทำเป็นสิ่งที่ยากจนเกินไป เพราะกิจกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางท่านรู้สึกท้อแท้ และเกิดความเครียดเมื่อต้องปฏิบัติกิจกรรมได้ การเข้าใจถึงสถานภาพของผู้ป่วย และการมองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างตัวเรากับผู้ป่วยเพื่อให้เราได้เข้าใจถึงความคิด ความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสม และช่วยให้เราสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยสโตรกได้อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน การปรับความเข้าใจของผู้ให้การดูแลก่อนจะฝึกฝนผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งแรกที่เรา ผู้ดูแลควรปฏิบัติ การเข้าหาผู้ป่วยโดยคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์การดูแลมาก่อน และเข้าใจทุกปัญหาและสาเหตุ ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะสละออกไป ลดความทะนงตัวและเพิ่มความอ่อนโยนและการเอาใจใส่ อย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายที่เราต้องการ สุดท้ายแล้วคือการทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดลดความตึงเครียด และมีสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตด้วยสภาพร่างกายที่ตนต้องเผชิญได้อย่างปกติสุข

Tips and tricks การฝึกกิจกรรม

  • ทำให้ง่าย ฝึกกิจกรรมหนึ่งรูปแบบแยกจากกัน ทีละรูปแบบ และเริ่มด้วยกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้พลังงานมากในการเตรียมตัว และเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา
  • ฝึกกิจกรรมทุกวัน โดยอาจเริ่มจากการฝึกฝนเป็นเวลาสิบนาที ทุกๆ วัน ต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัย และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาของการฝึกฝนขึ้นเรื่อยๆ
  • ตั้งเวลาเตือนทุกวันเพื่อทำการฝึกฝน การฝึกซ้ำๆ เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างนิสัย สร้างความคุ้นชิน พยายามตั้งเวลาที่คงที่ ทุกวัน เช่นทุกๆ 9 โมงเช้า ในระยะแรกของการฝึกจะเป็นช่วงที่ยากที่สุดของการฝึกฝน ร่างกายคนเราจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยสูงถึง 66 วันเพื่อสร้างความคุ้นชินและสร้างนิสัย
  • ผู้ดูแลและญาติร่วมทำกิจกรรมด้วยกันกับผู้ป่วยสโตรก แบ่งปันความช่วยเหลือทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สำหรับท่านที่มีบุคคลใกล้ตัวที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง และต้องการคนคอยดูแล หรือเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล สามารถติดต่อเราได้ เรา พาไป แพลตฟอร์ม พร้อมดูแล และพาไป