หน้าที่ของผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA

อัพเดทล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2567
หน้าที่ของผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ หรือ Nurse aid หรือ Nursing Assistant คือพนักงานช่วยการพยาบาลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมโดยโรงเรียน บริบาล บริรักษ์ในหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุระยะเวลาประมาณ 6 เดือน โดยหลักสูตรจะถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะไม่ใช่โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล ดังนั้นหลังสูตรการฝึกอบรมจะมีความซับซ้อนน้อยกว่าการเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล (Practical Nurse หรือ PN) โดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA จะผ่านการเรียนหลักสูตรที่เน้นการดูแผลคนชรา หรือเด็กเล็ก หรือดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

หน้าที่หลักของผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA

หน้าที่หลักของผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ในสถานพยาบาลนั้น จะมีหน้าที่ที่คล้ายคลึงกับหน้าที่ของผู้ช่วยพยาบาล PN แต่ก็มีบางหน้าที่ที่ไม่สามารถกระทำโดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ได้เนื่องจากงานบางหน้าที่ต้องการความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาล สำหรับหน้าที่ที่ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA สามารถกระทำในสถานพยาบาลจะมีดังนี้

  • ช่วยต้อนรับ และรับโทรศัพท์หรือติดต่อกับญาติหรือผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการบริการ

  • ทำความสะอาดเตียง และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวของผู้รับบริการให้มีความสะอาดและปลอดภัย

  • จัดเตรียมอาหาร เสิร์ฟอาหาร และทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารสำหรับผู้ป่วย

  • อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย

  • จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาพยาบาลให้พร้อมใช้งานและครบถ้วน

  • ป้อนกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพื่อป้องกันคนไข้และคนรอบข้าง

  • งานธุรการเบื้องต้น เช่นการรับส่งเอกสาร หรือการนำส่งสิ่งส่งตรวจ

  • ช่วยดูแลสุขอนามัยของผู้ป่วย เช่นการอาบน้ำ การขับถ่าย

  • ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการใช้รถเข็น รถนอน เคลื่อนย้ายเตียง หรือการพยุงเดิน

  • ประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น สุขอนามัยในช่องปาก ความเสี่ยงต่อการหกล้ม ลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติ

  • ฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยตามแผนการรักษาที่พยาบาลได้กำหนด เช่น การเคลื่อนไหว การจัดท่า พลิกตัว การบริหารร่างกาย การนวด

นอกจากนี้ ยังมีงานที่ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA สามารถร่วมปฏิบัติกับพยาบาลวิชาชีพเช่นการทำหัตถการ ในกรณีที่ได้รับการอบรม และกำกับดูแลโดยพยาบาลวิชาชีพ

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ช่วยเหลือพยาบาลในโรงพยาบาล

การดูแลผู้สูงอายุตามบ้านโดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลตามบ้าน โดยไม่ได้ต้องการความซับซ้อนในการพยาบาลมากนัก สามารถใช้บริการการดูแลโดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ได้ โดยความสามารถของผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ที่ช่วยเฝ้าไข้ตามบ้านจะมีดังนี้

  • ดูแล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ

  • ช่วยงานพยาบาลแบบพื้นฐานที่ไม่มีความซับซ้อน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม

  • ดูแลสุขอนามัย ทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ

  • ป้อนยา จัดการยาที่ได้รับมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • จัดเตรียมอาหาร และป้อนอาหาร

  • บำบัดฟื้นฟูร่างกายเบื้องต้น เช่นการเคลื่อนไหว การพลิกตัว บริหารร่างกาย

  • ประเมินอาการเบื้องต้น เช่นการวัดไข้ วัดความดัน

  • ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายโดยพยาบาลวิชาชีพ และได้ผ่านการฝึกฝนแล้วเท่านั้น

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA กำลังดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

กิจกรรมดูแลที่ไม่สามารถทำโดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ได้

แม้กิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นจะมีความคล้ายกับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ช่วยพยาบาล PN แต่กิจกรรมดูแลบางอย่างจะไม่สามารถกระทำโดยผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ได้ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ความสามารถที่ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA ยังไม่ได้รับการสอนมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะมีดังเช่น

  • งานดูแลที่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่ต้องสอดใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ เช่น การเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ การใส่สายให้อาหาร ใส่สายสวนปัสสาวะ

  • การทำแผลหรือหัตถการที่อาศัยเทคนิคปลอดเชื้อ หรือหัตถการที่อาจติดเชื้อได้

  • การบริหารยาหรือการสั่งยาให้ผู้ป่วยด้วยตนเอง

ทั้งนี้ งานหัตถการหรืองานดูแลบางอย่างที่ต้องใช้อุปกรณ์สอดใส่ จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการฝึกอบกม และอยู่ภายใต้การดูแลและกำกับโดยพยาบาลวิชาชีพ

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ NA กำลังพาผู้สูงอายุเดินในสวน

สรุป

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ หรือ Nurse Aid (NA) เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 6 เดือน ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะมีบทบาทคล้ายคลึงกับผู้ช่วยพยาบาล (PN) แต่มีขอบเขตการทำงานที่แคบกว่า โดยหน้าที่หลักของ NA ในสถานพยาบาลครอบคลุมการต้อนรับผู้ป่วย การทำความสะอาดอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมอาหาร การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย การช่วยดูแลสุขอนามัย และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกจากนี้ NA ยังสามารถประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้นและช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายตามแผนการรักษาที่กำหนดโดยพยาบาลวิชาชีพ และโดยสรุป ผู้ช่วยเหลือคนไข้ (NA) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่ต้องการการดูแลที่ซับซ้อน ทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้าน

บทความที่เกี่ยวข้อง